ความสำคัญ
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น ๗ วัน แล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้จิก อันมีชื่อว่า มุจจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ วันนั้นเกิดฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคมุจจลินท์ ผู้เป็นราชาแห่งนาค ได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย ครั้งฝนหายแล้ว พญามุจจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ในที่เฉพาะพระพักตร์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า “สุโข วิเวโก ตุฏฺฐัสสะ สุตะธัมมัสสะ ปัสสะโต อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก ปาณะภูเตสู สัญญะโม สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สะมะติกฺกะโม อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ฯ” ความว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลกความนำออกเสียซึ่งอัสมินมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง”
พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขภายในวงขนดของพญานาคมุจจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมา เรียกว่า ปางนาคปรก เรื่องพระปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระองค์อย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพราหมณ์ ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง ๔-๕ ชิ้น จนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลม จะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสาเป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย