ประวัติพระพุทธเมตตา
พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปในวัดพระมหาโพธิ ใกล้กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ตรัสรู้ของพระโคตมพุทธเจ้า ในตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน
(หรือแคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล) พระพุทธเมตตาองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยปาละ และสร้างในสมัยนั้นด้วยหินแกรนิตสีดำ มีอายุกว่า 1,400 ปี แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด
ศาสนวัตถุสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณพุทธคยาอีกอย่างหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกนิยมเดินทางไปกราบสักการะกันมาก ก็คือ องค์ “พระพุทธเมตตา” ซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมาอันงดงามยิ่ง ประดิษฐาน ณ ห้องบูชาชั้นล่างสุดของพระมหาเจดีย์พุทธคยาทางประตูด้านทิศตะวันออก มีอายุกว่า ๑,๔๐๐ กว่าปี ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของหลวงพ่อพระพุทธเจ้าองค์ดำ หรือ “หลวงพ่อองค์ดำ” เมืองนาลันทา ซึ่งก็เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธศรัทธานับถือเช่นกัน
พระพุทธลักษณะขององค์พระพุทธเมตตาแกะสลักจากหินสีดำเนื้อละเอียด ศิลปะสมัยราชวงศ์ปาละ คนไทยเรียกว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร คนอินเดียเรียกว่า ปางภูมิสัมผัส หรือปางภูมิผัสสะ แปลว่า ทรงชี้ให้แผ่นดินเป็นพยานแห่งการทำความดีในอดีต เพราะตอนที่พระยามารพร้อมเสนามารมาผจญไล่พระพุทธองค์ให้ลุกหนีไปเสียจากพุทธบัลลังก์ที่ประทับทรงชี้ให้พระแม่ธรณีมาเป็นพยานในการทำความดีในอดีตของพระองค์โดยพระแม่ธรณีได้บีบน้ำในมวยผมที่พระพุทธองค์ได้ทรงฝากไว้ตอนตรวจน้ำทำบุญทุกครั้ง กระทั่งในที่สุดทำให้พระยามารต้องพ่ายแพ้ต่อพระพุทธบารมี
หลวงพ่อพระพุทธเมตตา ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ประดิษฐานภายในเจดีย์พุทธคยา ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๔๗ เซนติเมตร สูง ๑๖๕ เซ็นติเมตร สร้างด้วยเนื้อหินทราย สมัยปาละ มีอายุประมาณ ๑๔๐๐ ปี ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งได้รอดพ้นจากการถูกทำลายได้
ในศตวรรตที่ ๑๓ มีกษัตริย์ฮินดูนามว่าพระเจ้าสาสังกา ของรัฐเบงกอล ที่ไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นมคธ ซึ่งมีพระเจ้าปุรณวรมา เป็นผู้ปกครองในสมัยนั้น ต้องการประกาศตนเป็นอิสระ จึงได้กรีฑาทัพมาทำลายจุดศูนย์กลางของแคว้นมคธ คือบริเวณดินแดนแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ทันที ด้วยหมายจะทำลายขวัญของกษัตริย์และประชาชนเสียก่อน แล้วจึงค่อยยกทัพไปตีเมืองหลวงในขั้นต่อไป เพราะบริเวณพุทธคยานี้มีต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระพุทธเมตตาเป็นหัวใจสำคัญที่ชาวพุทธให้ความเคารพนับถือกราบไหว้บูชากันมาก ทำให้การขยายตัวทางพระพุทธศาสนาได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
เมื่อกษัตริย์ชาวฮินดูได้เข้ายึดบริเวณพุทธคยาแล้วได้รับสั่งให้ทหารเริ่มระร้านกิ่งก้านสาขาต้นพระศรีมหาโพธิ์และตัดรากจนหมดสิ้น แม้แต่รากต้นพระศรีมหาโพธิ์จะเลื้อยชอนไชไปในทิศทางใดก็สั่งให้ทหารขุดรากออกให้หมด จากนั้นก็สั่งให้ฟางอ้อยต่างเชื้อเพลิงวางสุ่มที่ตอแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วลาดน้ำมันจุดไฟเผา ด้วยประสงค์จะมิให้หน่อแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้มีโอกาสงอกขึ้นมาเลย
จากนั้นรับสั่งให้ทหารเข้าไปในพระมหาวิหารแล้วสั่งให้เสนาบดีนำพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อหินทราย ออกไปจากมหาวิหาร แต่เผอิญเสนาบดีเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าคิดว่า ถ้ามาตรแม้นว่าเราจะนำพระพุทธรูปองค์นี้ออกไปเสียจากวิหารแล้วไซร์ ก็เกรงกลัวว่าจะเกิดไม่ทันศาสนาพระศรีอาริย์ แต่ถ้าเราไม่นำออกไปตามพระบัญชา เราก็จะต้องถูกประหารชีวิตโดยไม่ต้องสงสัย ทันใดนั้น ความคิดอย่างหนึ่งก็ได้เกิดขึ้นมา แล้วกราบทูลแต่พระราชาว่า พระพุทธรูปองค์นี้ใหญ่โตมากยากที่จะนำออกไปในวันนี้ได้ ข้าพระองค์ใคร่ขอโอกาสสัก ๗ วัน เพื่อหาทางนำพระพุทธรูปองค์นี้ออกไปจากพระวิหารให้จงได้ พระเจ้าสาสังกาจึงตกลงพระทัยยอมให้ปฏิบัติตามคำขอร้องของเสนาบดี
ฝ่ายเสนาบดี ครั้นให้คำมั่นสัญญาเรียบร้อยแล้ว จึงได้เริ่มแผนการตามที่ตนคิดไว้ในใจ โดยใช้แผ่นอิฐมากก่อเป็นกำแพงกำบังพระพุทธรูปไว้อย่างมิดชิด พร้อมกับตั้งประทีปโคมไฟบูชาไว้ภายในกำแพงที่กั้นปิดไว้
ครั้นครบ ๗ วันจึงกราบทูลพระราชาว่า บัดนี้เกล้ากระหม่อมฉันได้จัดการนำพระพุทธรูปออกไปจากพระมหาวิหารแล้ว พระเจ้าสาสังกา พอได้สดับคำเช่นนั้น แทนที่พระองค์จะยินดีปรีดาเพราะความปรารถนาของพระองค์สำเร็จแล้ว แต่พระองค์กลับทรงเสียพระทัยถึงกับมีพระโลหิตออกจากปากและจมูก แล้วล้มลงต่อหน้าหมู่ทหารและสวรรคต ณ ที่นั้นเอง
ในขณะที่กองทัพพระเจ้าสาสังการอทัพอยู่ ณ พุทธคยานั้นนั่นเอง กษัตริย์ชาวมคธคือพระเจ้าปุรณวรมา ได้เสด็จยกทัพมาถึงพอดี ฝ่ายพวกกองทัพของพระเจ้าสาสังกาซึ่งต่างอกสั่นขวัญหนีอยู่ก่อนแล้วก็ยิ่งเสียขวัญ ต่างแยกย้ายหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง จากนั้นพระเจ้าปุรณวรมาก็ได้แกะแผ่นอิฐออก
ปัจจุบันพระพุทธเมตตา ซึ่งเป็นพระประธานในพระเจดีย์พุทธคยาที่อยู่คู่กันกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีพระพักตร์ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาเสมือนหนึ่งเป็นตัวเเทนแห่งการระลึกถึงพระเมตตาคุณของพระพุทธองค์ ที่เมื่อทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เมตตาโปรดสั่งสอนไวนัยสัตว์ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ได้รู้ตามคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งได้ผ่านกาลเวลามายาวนาน จนเป็นหนึ่งในจุดหมายของการเดินทางจาริกธรรมแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนทุกสารทิศ จากทุกนิกาย หลากหลายวิถีปฏิบัติ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ทั่วโลก ซึ่งต่างมุ่งเดินทางสู่พุทธคยา เพื่อจักได้เจริญจิตภาวนา สวดมนต์ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นการบูชาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา
คำบูชาหลวงพ่อพระพุทธเมตตา อินเดีย
วันทามิ อิมัง พุทธะเมตตาปะฏิมัง อิมังสะมิง คะยาสีสา ปูชาระเห สักการะภูเต เจติยัง สุปะติฏฐิตัง ฯ
อิมินา ปะนะ วันทะมาเนนะ มา มา ทะลิททิยัง อาหุฯ
พะหุชะนานัง ปิโย โหมิ มะนาโป สาธุ โน ภันเต อิเมหิ สักกาเรหิ อะภิปูชะยามิ ฯ
คำแปล ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ พระพุทธเมตตาปฏิมานี้ซึ่งประดิษฐานตั้งมั่นดีแล้ว ในองค์พระเจดีย์ที่คยาสีสะประเทศนี้ อันเป็นสถานที่ควรแก่เครื่องบูชาสักการะ ฯ ด้วยการกราบไหว้นี้ ขอความเป็นผู้ขัดสนอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย ขอให้ข้าพเจ้าเป็นทีรัก เป็นที่พอใจของคนทั่วไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอบูชาโดยยิ่งด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ ฯ