ประวัติพระพุทธรูปอู่ทอง
“ศิลปะสกุลช่างที่รังสรรค์งานประติมากรรมสัมฤทธิ์ออกมาเป็นองคพระพุทธรูปที่เรียกขานกันว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ซึ่งแตกต่างจากศิลปะ “อู่ทองสุวรรณภูมิ””
ความสับสนของการพิจารณาพระพุทธรูปไทยสมัยอู่ทอง หรือ ลพบุรีกับพระพุทธรูปเขมรมักมีอยู่เสมอ ซึ่งต้องยอมรับกันว่ามีเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ หลายท่านคงเคยได้ยินว่าศิลปะพระบูชาสมัยอู่ทองของเราสร้างเลียนแบบศิลปะพระบูชาหรือเทวรูปเขมรนั้น เรื่องนี้คงมีความจริงเพียงบางส่วน เพราะถ้าหากจะพิจารณาพุทธศิลป์ในองค์พระให้ลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว คงบอกได้ไม่ยากว่าพระพุทธรูปองค์ไหนเป็นของไทย องค์ไหนเป็นของเขมร อิทธิพลของงานศิลปะพระเขมร แผ่ขยายเข้ามาในสยามประเทศ ผ่านทางเมืองลพบุรี ในสมัยขอมยุคบายนซึ่งกำลังมีบารมีอำนาจครอบคลุมเข้ามาปกครองแผ่นดินของสยามอยู่หลายส่วน
ต่อมากษัตริย์ไทยมีพระปรีชาสามารถ บารมีอำนาจมากขึ้นในสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีประกาศอำนาจการปกครองครอบคลุมดินแดน แถบนี้สวนกระแสอำนาจที่เสื่อมลงของขอมและเมื่อบ้านเมืองมีความสงบสุขร่มเย็นลง ปลอดศึกสงคราม ศิลปินสายเลือดไทยจึงเริ่มมีจินตนาการศิลป์ สร้างศิลปะพระพุทธรูปไทยขึ้นในยุคนี้ โดยนำเอาศิลปะความเรียบร้อย อ่อนน้อมละเมียดละไม ซึ่งเป็นอุปนิสัยของคนไทยสอดเข้าผสมผสานกับศิลปะความเข้มแข็ง เงียบขรึมมีอำนาจของขอมก่อให้เกิดพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่สง่างาม เข้มขรึมแต่ไม่เข้มแข็งพระพักตร์คลายเครียดออกอาการยิ้มอยู่ในที