วันอาทิตย์
พระประจำวันอาทิตย์ คือ ปางถวายเนตร โดยพระประจำวันนี้ จะมีลักษณะเด่น คือเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสอง เพ่งไปข้างหน้าพระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในพระอาการสังวรทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ
คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม
นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนาฯ
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ
คุตตา วิหะเรมุ รัตติง เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม
นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ
(สวดวันละ 6 จบ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข สิริเจริญสมพูนผล ปลอดภัย แคล้วคลาดอันตราย)
วันจันทร์
พระประจำวันจันทร์ ได้แก่ ปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร ซึ่งพระวันจันทร์เราจะได้ยินชื่อของท่านเป็นประจำ เพราะมีลักษณะพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้ามเป็นปางเดียวกันกับปางห้ามสมุทร ต่างกันตรงที่ปางห้ามญาติจะยกมือขวาขึ้นห้ามเพียงมือเดียว ส่วนปางห้ามสมุทรจะยกมือทั้งสองขึ้นห้ามแต่ส่วนใหญ่มักจะนิยมสร้างเป็นปางห้ามญาติ และนิยมทำเป็นแบบพระทรงเครื่อง
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันจันทร์
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โยจามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห
ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โยจามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห
ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โยจามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห
ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสเมนตุ ฯ
(สวดวันละ 15 จบ เพื่อความสุขสวัสดี สิริมงคล ลาภผลต่างๆ นานา นอนเป็นสุข ไม่ฝันร้าย)
วันอังคาร
พระประจำวันอังคาร คือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือ พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู ซึ่งไสยาสน์ในที่นี้ ไม่ใช่การเล่นของแต่อย่างใด แต่เป็นชื่อเรียกของพระประจำวันอังคารเพียงเท่านั้น โดยพระพุทธรูปปางไสยาสน์ จะมีลักษณะพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้)
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอังคาร
ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิ ปาณิโน
ปะติฏฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา
สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา
คะณะนา นะ จะ มุตตานัง ปะริตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 8 จบ จะเกิดผลดี)
วันพุธ
สำหรับวันพุธนั้น จะต่างจากวันอื่นๆ ออกไป เพราะเป็นวันที่ มีพระประจำวันเกิด ถึง 2 องค์ มีทั้งประจำวันพุธในเวลากลางวัน และพระประจำวันพุธในเวลากลางคืน ซึ่งทั้ง 2 รูป จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
พระประจำวันพุธ (กลางวัน) คือ ปางอุ้มบาตร โดยลักษณะแล้ว จะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางวัน)
สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ
ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง
สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 17 จบ จะมีความสุขสวัสดียิ่งๆ ขึ้นไป)
วันพุธ (กลางคืน)
คือ ปางป่าเลไลยก์ จะเป็นพระประจำวันพุธของผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันพุธถึง 06.00 น. ของวันพฤหัสบดี หรือบางคนก็นับตั้งแต่ 18.00 – 24.00 น. ของวันพุธ ซึ่งนั่นก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล และจะมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลาพระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระขนุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายนิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางคืน)
กินนุ สันตะระมาโนวะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ
สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต ติฏฐะสีติ
สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ
พุทธาคาถาภิคิโตมหิ โนเจ มุญเจยะ จันทิมันติ
(สวดวันละ 12 จบ จะมีความเจริญสุขสวัสดี)
วันพฤหัสบดี
พระประจำวันพฤหัสบดี คือ ปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ โดยจะมีลักษณะของพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิพระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายพระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย คล้ายกับคนที่นั่งสมาธิที่เรานั่งกันเป็นประจำ
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพฤหัสบดี
ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง วัฏฏะชาติยัง
ยัสสะ เตเชนะ ทาวัคคิ มะหาสัตตัง วิวัชชะยิ
เถรัสสะ สารีปุตตัสสะ โลกะนาเถนะ ภาสิตัง
กัปปัฏฐายิ มะหาเตชัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 19 จบ จะมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป)
วันศุกร์
พระประจำวันศุกร์ คือ ปางรำพึง จะมีลักษณะของพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ซึ่งท่าทางของท่านนั้น สื่อถึงการรำพึงรำพันอย่างแท้จริง
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันศุกร์
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 21 จบ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน)
วันเสาร์
พระประจำวันเสาร์ คือ ปางนาคปรก หลายคนคงรู้จักนาคปรก จากภาพยนตร์ชื่อดังที่ได้ฉายในปี พ.ศ. 2553 แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นาคปรก คือพระประจำวันเสาร์ ซึ่งจะมีลักษณะพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันเสาร์
ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต
นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตาฯ
เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ
(สวดวันละ 10 จบ จะมีความสุขความเจริญและเกิดความสวัสดีมีมงคลตลอดกาลนาน)