พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามถึงที่สุดก็คือ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย พุทธลักษณะงดงามอ่อนช้อย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลว่า สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดคือ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งราชวงศ์พระร่วง ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง พระองค์ก็สามารถขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางไปจนถึงมลายู
อีกทั้งการศาสนา พระองค์ทรงเลื่อมใสหลักธรรมคำสอนแห่งพุทธศาสนาจากพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช และทรงอาราธนามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทยังกรุงสุโขทัย และพระพุทธรูปองค์แรกที่ได้รับอาราธนามาจากลังกาด้วย ซึ่งนับเป็นต้นแบบในการสร้างถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาสืบต่อมา เป็นที่เชื่อกันว่าคือ พระพุทธสิหิงค์ นั่นเอง
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างศาสนวัตถุทางพุทธศาสนาไว้มากมาย อาทิ พระอุโบสถ วิหาร ตลอดจนเจดีย์และพระพุทธรูป ฯลฯ ตัวอย่างที่หลงเหลือถึงปัจจุบันและได้รับยกย่องให้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงทั่วโลกก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ซึ่งเราท่านทุกคนรู้จักกันดี
พระพุทธรูปสุโขทัย เริ่มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 มาเฟื่องฟูในสมัยพระยาลิไท เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความสนพระทัยในการศึกษาทางพุทธศาสนาอย่างมาก จนสามารถพระราชนิพนธ์หนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” จนสำเร็จได้ อีกทั้งได้รับสมญานามว่า “พระมหาธรรมราชา” ซึ่งมีความหมายว่า ทรง ใช้ “ธรรม” เป็นเครื่องมือในการขยายพระราชอำนาจ
จะสังเกตได้จากโบราณสถานและโบราณ วัตถุอันเป็นปูชนียสถานและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนามากมายที่สร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ อันนับได้ว่าเป็น “ยุคทองของศิลปกรรมสุโขทัย”
พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง อาทิ พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปหล่อสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งประดิษ ฐานในวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนามาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร และพระมหาสุวรรณปฏิมากรหรือหลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม กทม. เป็นต้น
ศิลปะพระพุทธรูปสุโขทัยนั้นอาจแบ่งได้เป็น ศิลปะตะกวน ก่อนสุโขทัยมีอิทธิพลของศิลปะขอม ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ ศิลปะสุโขทัยหมวดต่างๆ เช่น หมวดพิษณุโลก หมวดกำแพงเพชร
ศิลปะของพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่างามอย่างถึงที่สุดได้แก่ “ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์” นอกจากได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปจากประเทศลังกาดังกล่าวแล้ว ยังต้องอาศัยฝีมือของนายช่างไทยในสมัยนั้นที่ได้ใช้จินตนาการอันบรรเจิดในการรังสรรค์พระพุทธรูปที่มีพุทธศิลปะเฉพาะ ซึ่งฉีกแนวคิดออกจากอิทธิพลเดิมๆ จนมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามและถือเป็นศิลปะอันบริสุทธิ์
ประกอบด้วยพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ พระเกศ ทำเป็นอย่างเปลวเพลิงสูง พระศก ขมวดเป็นก้นหอยเล็ก พระพักตร์ เป็นหน้านางหรือหน้ารูปไข่ พระเนตรหลุบต่ำ ทำให้ได้รับความรู้สึกจากพระพักตร์อันเต็มไปด้วยพระเมตตา พระวรกายโดยรวมดูชะลูดอย่างมีทรง และเน้นกล้ามเนื้อดูพองามที่พระนาภี พระกรทั้งสองข้างแสดงปางมารวิชัย ทอดลงมาที่พระเพลาอย่างอ่อนช้อย และเล่นนิ้วพระหัตถ์แต่พองาม ดูไม่แข็งกระด้าง การซ้อนของพระเพลา งอนขึ้นเล็กน้อยและดูรับกันทั้งสองข้าง พระสังฆาฏิ ทอดยาวลงมาเสมอพระนาภี และปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ และฐานองค์พระ ส่วนมากมักทำเป็นลักษณะฐานเขียง นักเล่นพระเรียก “หน้านางคางหยิก” คือหน้างามเยี่ยงอิตถีเพศ ปลายคางมีรอยคล้ายเล็บหยิกลงไป
“พระพุทธรูปสุโขทัย” ซึ่งนายช่างผู้ประติมากรรมได้รังสรรค์งานศิลปะและบรรจงสร้างขึ้นอย่างประณีตนั้น แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์อย่างแน่วแน่ โดยได้สอดแทรกทั้งจิตและวิญญาณลงไปในผลงานนั้นด้วย จึงออกมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามอ่อนช้อยมีชีวิตชีวาอันเป็นพุทธลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งผู้ที่ได้สัมผัสพบเห็นแล้วก่อเกิดความศรัทธาและความปีติได้อย่างน่าอัศจรรย์ครับผม
ที่มา https://www.khaosod.co.th/amulets/news_63663