ต้องมีพระอย่างน้อยกี่รูปกี่รูป จึงจะรับกฐินได้

ต้องมีพระอย่างน้อยกี่รูปกี่รูป จึงจะรับกฐินได้

คำถาม : เกี่ยวกับเรื่องของจำนวนพระที่รับกฐิน
โยมเคยได้ยินว่า ต้องมีพระอย่างน้อยกี่รูปกี่รูป
จึงจะรับกฐินได้ เรื่องนี้ไม่ทราบว่า
มีข้อตกลงหรือพุทธบัญญัติอะไรประมาณไหนเจ้าค่ะ
พระอาจารย์มหาไพโรจน์ตอบ :
สิทธิ์ที่พระจะได้รับกฐินหรือผ้ากฐิน
ที่จะนำไปกรานตามพระวินัยต่อนี่
มีแค่องค์ประกอบเดียว คือ
จำพรรษาครบสามเดือนแรก
ไม่มีบอกว่าต้องเป็นพระกี่รูปนะ
ก็แปลว่าพระรูปใดก็ตามที่จำพรรษา
สามเดือนแรกครบบริบูรณ์มีสิทธิ์ทุกรูป
ส่วนที่เราทราบๆ กันมาว่า ต้องห้ารูปนี่
นั่นคือช่วงกรานกฐิน
ช่วงทำพิธีในโบสถ์ตามพระวินัย
หรือเรื่องของสังฆกรรม

สมมติว่าวัดหนึ่งมีพระรูปเดียว

ถามว่ารับกฐินได้ไหม ตอบว่ารับได้

แต่ต้องจำพรรษาครบสามเดือนแรก
แล้วอีกสี่รูปล่ะ นั้นคือเวลาไปกราน
ก็ถ้ามีอยู่รูปเดียว เวลาไปกราน
ก็ต้องขาดอีกสี่รูปใช่ไหม
ท่านให้นิมนต์มาจากวัดอื่นมาได้
นี่คือรายละเอียดที่เราควรพูดมากๆ
ในประเทศไทยเราไม่ค่อยพูดกันเรื่องนี้นะ
เราจะพูดว่าต้องห้ารูปเป็นอย่างต่ำ
จึงจะรับกฐินได้ อย่างนี้ไม่ถูก
ต้องพูดว่ารูปเดียวก็รับได้
ขอให้จำพรรษาครบสามเดือนแรก
ส่วนอีกสี่รูป นิมนต์มาจากวัดอื่นได้
เรียกว่า คณปูรกะ เป็นองค์สมทบ
เพื่อให้ครบห้ารูปในช่วงกรานกฐิน
ตามพระวินัยบัญญัติในโบสถ์
….
คำถาม: พระสี่รูปที่มาร่วมกรานกฐินนี่
ท่านต้องจำพรรษาครบสามเดือนไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์มหาไพโรจน์ตอบ: ไม่จำเป็น
คำถาม : ท่านอาจจะเพิ่งบวชได้หนึ่งเดือนก็ได้
พระอาจารย์มหาไพโรจน์ตอบ : ใช่
ขอให้เป็นพระ ในตำราบอกละเอียดมาก
เป็นเณรจำพรรษามาหนึ่งพรรษา
แล้วพอออกพรรษาบวชก่อนวันกฐิน
ท่านบวชในวันนั้น ก็เป็นองค์ประกอบได้เลย
เพราะว่าช่วงที่เขาเป็นเณร เขาจำพรรษา
แล้วอายุเขาครบแล้ว แต่ยังไม่ได้บวช
พอเขาบวชปุ๊บเป็นพระ
สามารถเป็นพระในวัดนั้นได้เลย
ไม่ต้องนิมนต์จากที่อื่น
….
คำถาม : เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ยินว่า
วัดบางวัดมีพระแค่สองสามรูปนี่
ก็ยังสามารถทอดกฐินได้
แต่ว่าท่านต้องไปนิมนต์พระจากวัดอื่น
มาในช่วงของพิธีกรานกฐิน
พระอาจารย์มหาไพโรจน์ตอบ : ใช่
อีกประเด็นหนึ่ง
ถ้าวัดใดวัดหนึ่งยังไม่มีโบสถ์
ยังไม่มีสีมา รับกฐินได้ไหม กรานกฐินได้ไหม
ตอบว่า รับได้ กรานได้
เพราะการรับ เราได้พูดไปแล้ว
ว่ารับที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องรับในโบสถ์
แต่ตอนกรานต้องกรานในโบสถ์
ตอนกรานในโบสถ์
ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นโบสถ์ในวัดนั้นนะ
เป็นโบสถ์วัดไหนก็ได้
เพราะท่านใช้คำว่า โบสถ์ หรือ สีมาเท่านั้น
ท่านไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสีมาภายในวัดนั้น
หรือโบสถ์ภายในวัดนั้น
ยกตัวอย่างนะ วัดที่อาตมาปกครองดูแลอยู่
เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสอยู่
คือวัดมหาปิฎกธรรมาราม อยู่ที่ อ.พนัสนิคม จ. ชลบุรี
โยมถามกันบ่อยว่า ท่านทอดกฐินวันไหน
บอกยังไม่ได้กำหนด
จะต้องดูทางวัดมหาธาตุฯ ก่อนว่า
ทอดวันไหน เพราะช่วงทอดวัดมหาธาตุฯ
อาตมาจะต้องอยู่ร่วมงานกัน ก็เลยยังไม่กำหนด
แต่ในขณะเดียวกัน
ต้องคิดเรื่องพระวินัยไว้ตลอด
ถ้ามีคนถามว่า วัดท่านยังไม่มีโบสถ์
(เพราะตอนนี้ยังไม่มีโบสถ์)
ทอดกฐินได้ไหม
เราต้องเตรียมคำตอบไว้ให้เขาด้วย
…….
ตอบว่ารับกฐินได้ แล้วตอนกราน
เราไปกรานที่โบสถ์วัดอื่นได้
อันนี้เป็นข้อมูลที่เอาเป็นว่า
พระไทยเราไม่ค่อยได้ลงรายละเอียด
น่าเสียดาย
……..
คำถาม : แสดงว่าวัดนั้นอาจจะเป็นวัดใหม่
หรือว่าวัดที่ยังไม่มีโบสถ์
ก็สามารถที่จะรับกฐินได้
แต่ว่าจะต้องไปขออนุญาตใช้โบสถ์ของวัดอื่น
ในการกรานกฐิน อันเป็นพิธีทางพระสงฆ์
พระอาจารย์มหาไพโรจน์ตอบ:
แต่ความจริงมันไม่ต้องถึงขั้นสร้างความสัมพันธ์
ไปขออนุญาต ขอใช้สถานที่อย่างนี้ได้เลย
พระด้วยกัน ท่านอนุญาตอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา
คำถาม : แต่ว่าต้องเป็นโบสถ์ที่มีสีมา
พระอาจารย์มหาไพโรจน์ตอบ : มีสีมา ก็คือว่า
ถ้าผูกพัทธสีมาตามพระวินัยเรียบร้อยแล้ว
ก็ถือว่าเป็นโบสถ์ร้อยเปอร์เซนต์แล้ว
ก็ทำในนั้นได้เลย
บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ในรายการ
“ภูมิคุ้มกันใจ Online”
โดย ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
วันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๓

ที่มา https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3557437350961651&id=174670492571704